ถอดรหัสการแต่งบ้านด้วยตัวเอง EP.01 จุด เส้น ระนาบ

          ก่อนจะเริ่มเข้าเรื่อง เราอยากให้คุณหลบสายตาจากจอคอมพิวเตอร์และมือถือ ลองมองไปยังพื้นที่รอบตัว แล้วแทนค่าสิ่งต่างๆ ในห้องด้วยรูปร่าง รูปทรง สมมติว่าคุณเห็นพัดลม ลองพิจารณาถอดร่างพัดลมออกมาเป็นรูปทรงเรขาคณิต เช่น พัดลมคือวงกลม ประกอบกับเส้นตรงที่เชื่อมต่อไปยังฐานสี่เหลี่ยมทรงกล่องแบน การมองเห็นเกิดจากแสงที่ตกกระทบวัตถุแล้วตกกระทบกลับมายังจอตา ทำให้เรารับรู้ได้ถึงเส้นขอบของวัตถุ ลักษณะ รูปทรง ทุกสิ่งที่ตาเรามองเห็นได้ล้วนถูกประกอบขึ้นจาก จุด เส้น ระนาบ เชื่อมกันจนเกิดเป็นรูปทรง แม้กระทั่ง รูปทรงอิสระ ก็เกิดขึ้นมาจากเส้นโค้งหลายๆ เส้นต่อกัน

          ทางเทคนิค สิ่งเหล่านี้เรียกว่าองค์ประกอบทางศิลปะ ถ้าเทียบงานศิลปะเป็นอาหารจานหนึ่ง อาหารจะสมบูรณ์ได้ต้องมีวัตถุดิบและวิธีทำ เช่นเดียวกับศิลปะ ที่จะต้องมีวัตถุดิบ และวิธีนำไปใช้ โดยวัตถุดิบในทางศิลปะ (Elements) ประกอบไปด้วย จุด เส้น ระนาบ ปริมาตร สี พื้นผิว แสงและเงา และมีหลักการนำวัตถุดิบเหล่านี้ไปใช้ (Principle) เพื่อสร้างสรรค์ผลงานออกมาให้ตอบสนองความรู้สึกและการใช้งาน อาหารจะกลมกล่อมหรือไม่ ขึ้นอยู่กับวัตถุดิบและวิธีการปรุง ดังนั้นในบทความนี้เราจะพาผู้อ่าน มารู้จักวัตถุดิบพื้นฐานสามอย่าง นั่นคือ จุด เส้น และระนาบ

          จุด ใครคิดว่าไม่สำคัญ จุดๆ เดียวเท่านั้นก็ทำให้เป็นพระเอกได้เลย เมื่อจุดกำหนดตัวเองในที่ว่าง เช่น ในพื้นที่สี่เหลี่ยมมีจุดตรงกลาง เหมือนอนุเสาวรีย์ที่อยู่กลางพื้นที่โล่ง ให้ความรู้สึกสงบนิ่ง โดดเดี่ยว แต่เมื่อไหร่ที่จุดอยู่ตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งที่ไม่กลาง จะเกิดการแข่งกันของพื้นที่รอบๆ ที่ไม่เท่ากันและ ทำให้เกิดความรู้สึกที่แตกต่างออกไป จุดไม่มีความกว้าง ยาว เป็นกลาง ไม่แสดงทิศทาง แต่จุดที่มากกว่าหนึ่งจุด ที่มีระยะห่างและความหนาแน่นต่างกันออกไปสามารถสร้างให้เกิดทิศทาง การเคลื่อนไหว และขนาดได้ เช่น

จากตำแหน่งของจุดและพื้นที่ระหว่างจุด สามารถทำให้รู้สึกได้ถึงการเพิ่ม ลดความเร็ว


จะเห็นได้ว่าเมื่อมีจุดมากกว่าหนึ่ง ขนาดไม่เท่ากันอยู่ด้วยกัน ทำให้เกิดการเปรียบเทียบขนาด จากการที่จุดไม่มีขนาด ก็มีขนาดความกว้าง กลายเป็นวงกลมสองมิติไป

          บางคนอาจเคยเห็นภาพศิลปะที่ให้แสงเงาด้วยการใส่จุดที่มีความหนาแน่นไม่เท่ากันลงไป ดังภาพตัวอย่าง ซึ่งจะทำให้เห็นความเข้มอ่อน แสงและเงาได้

          นอกจากนี้เมื่อนำจุดมาต่อติดๆ กัน ทำให้เกิดเป็นเส้นหรือบางคนกล่าวว่าเส้นเกิดจากจุดมีการ เคลื่อนที่ไปทิศทางใดทิศทางหนึ่ง เส้นเป็นสิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญมากเนื่องจากเส้นสามารถสร้างให้เกิด ความรู้สึกได้หลากหลาย เช่น เส้นแนวระนาบ ทำให้รู้สึกสงบนิ่ง ลองนึกถึงผิวน้ำนิ่งๆ หรือเส้นขอบฟ้าที่ให้ความรู้สึกคล้ายกัน เส้นแนวตั้งให้ความรู้สึกสูง ไม่มั่นคง ให้ลองนึกภาพเทียบกับตึกสูง ที่บางเป็นเส้นคล้ายเสาไฟฟ้า ส่วนเส้นโค้งไปมาเหมือนคลื่นให้ความรู้สึกเคลื่อนไหว และเส้นอิสระที่ยุกยิกพันกันให้ความรู้สึกวุ่นวาย

          ในแง่ของมุมมอง เส้นยังมีอีกความสามารถ เนื่องจากคุณลักษณะของเส้นมีปลายเปิดสองฝั่ง สามารถนำสายตา หรือหลอกสายตาได้ สถาปนิกบางคนนำความรู้นี้มาปรับใช้ในการออกแบบ เมื่อเส้นมีปลายเปิดทั้งสองฝั่ง

          หากเส้นถูกลากจนปิดล้อมพื้นที่ สิ่งที่เกิดขึ้นคือระนาบ ระนาบคือพื้นที่ปิดล้อมมีความกว้าง ความยาว ไม่มีความหนา ลักษณะของระนาบคือ สามารถกำหนดขอบเขต บอกได้ถึงขนาดและปริมาณ เนื่องจากมีความกว้าง ความยาว ระนาบไม่จำเป็นต้องเป็นสี่เหลี่ยมอย่างเดียว วงกลม สามเหลี่ยม ห้าเหลี่ยม หรือแม้กระทั่งระนาบรูปร่างอิสระ

          ระนาบเป็นรูปสองมิติที่สามารถแสดงพื้นที่ปิดล้อมได้หลายลักษณะ และระนาบนี้เองเมื่อนำมาประกอบกัน บางตำรากล่าวเมื่อระนาบขยายออกไปทิศทางใดทิศทางหนึ่ง ทำให้เกิดปริมาตร ปริมาตรเป็นรูปทรงสามมิติที่มีทั้งความกว้าง ความยาว และความหนา น้ำหนักของปริมาตรจะขึ้นอยู่กับว่าพื้นที่ภายในนั้นเปิดโล่งหรือทึบตัน ปริมาตรนั้นจะดูแน่นและหนักก็ต่อเมื่อพื้นที่ภายในเป็นพื้นที่ปิดตัน ซึ่งสามารถนำความรู้เรื่องสี พื้นผิวมาใช้เพื่อประกอบการออกแบบได้

          จะเห็นได้ว่าส่วนประกอบเหล่านี้ช่วยอธิบายลักษณะทางกายภาพได้ชัดเจน นักออกแบบจึงใช้ประโยชน์จากสิ่งเหล่านี้เพื่อส่งเสริมและแก้ปัญหาได้อีกด้วย เช่น ตัวอย่างในภาพแรกเป็นครัวที่ตั้งอยู่ในมุมอับมีพื้นที่ขนาดเล็ก ทางผู้ออกแบบใช้สีสว่างและแนวการปูกระเบื้องผนัง ที่เป็นเส้นแนวนอน เพื่อช่วยทำให้ดูกว้างขึ้น อีกทั้งชั้นเก็บของที่ตั้งใจโชว์แนวไม้ที่เป็นเส้นแนวนอนก็ช่วยหลอกตาให้ดูกว้างขึ้นอีกด้วย

          ตัวอย่างถัดมาเป็นห้องสีขาวสบายตา เฟอร์นิเจอร์สีขาวที่ออกแบบให้กลืนไปกับผนัง และเพิ่มความน่าสนใจด้วยส่วนประกอบที่ทำให้เกิดจังหวะ เห็นการเคลื่อนไหวแบบมีชั้นเชิง ด้วยลายพื้นไม้ที่เห็นเป็นเส้นซิกแซก โคมไฟจากวัสดุธรรมชาติเข้ากันได้ง่ายกับพื้นไม้และห้องสีขาว และรูปทรงของโคมไฟเองก็ทำให้เห็นจังหวะของรูปทรง

          จากภาพด้านล่าง ผู้อ่านเห็นจุดสองจุด และระนาบสองชิ้นใหญ่ๆ หรือไม่ โคมไฟทั้งสองเป็นจุดที่ดึงสายตา จะเห็นได้ว่าในห้องนี้แบ่งการใช้งานเป็นสองส่วน คือทานข้าวและนั่งพักผ่อน โคมไฟนี้ทั้งช่วยเรื่องการให้แสงสว่างแล้ว และยังช่วยเติมช่องว่างของพื้นที่ช่วงบนให้เต็มอีกด้วย นอกจากนี้ห้องใหญ่นี้ถูกเติมให้เต็มแบบพอดีๆ ด้วยระนาบสีเทาของผนังด้านซ้าย และระนาบพรมลายกราฟิก ที่มาช่วยสร้างความน่าสนใจให้กับห้อง

          การฝึกมองโลกให้เป็นทั้งสองมิติ และสามมิติ ก็เสมือนเรามีเครื่องเอ็กซเรย์ส่วนตัว ไว้ตรวจสอบว่าภายในรูปลักษณ์นี้ ก่อกำเนิดได้อย่างไร การทำความรู้จักกับส่วนประกอบพื้นฐาน เทคนิคที่นำมาส่งเสริมการออกแบบให้มีชั้นเชิง ก็เปรียบเหมือนเชฟที่รู้จักวัตถุดิบเป็นอย่างดี และรู้เทคนิควิธีการปรุงวัตถุดิบนั้นๆ ให้เกิดความลงตัวของรสชาติ รสสัมผัส

          การสอดประสานกันของรูปทรง และที่ว่าง วิธีการเติมแต่งและจัดวาง ก็เป็นอีกสิ่งที่มีความสำคัญมากในการจัดบ้าน

          แต่ตอนนี้ลองใช้เวลาว่าง ฝึกแยกองค์ประกอบจุด เส้น ระนาบ ถอดรหัสความสวยของพื้นที่และสิ่งของรอบตัวกันไปพลางๆ ก่อน แล้วเราจะไปต่อเรื่องสนุก อย่างการสไตลิ่ง การจัดวาง Composition ในบทความถัดไปกันค่ะ

Ref.
http://www.elca.ssru.ac.th/somboon_ve/file.php/1/point_line_plane.pdf
http://www.halfbottle.net/wp/photography/composition-beauty/composition-1-element-dot-line-plane

เรื่อง: นุชนาถ กลิ่นจันทร์ (Farmhouse Styling)
เรียบเรียง: ภัทราวรรณ สุขมงคล (Dyeast Studio)