ถอดรหัสการแต่งบ้านด้วยตัวเอง EP.02 – องค์ประกอบศิลป์ พื้นฐานของความงามทุกแขนง Part.1/2

          ใครจะไปรู้ว่าเบื้องหลังความงามของการออกแบบจัดวางพื้นที่ภายใน จะมีหลักเกณฑ์อยู่คร่าวๆ แค่ไม่กี่ข้อ อันที่จริงแล้วแทบทุกศาสตร์ของศิลปะใช้หลักการเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น ภาพถ่าย ภาพวาด งานประติมากรรม หรือแฟชั่น จากครั้งที่แล้วเราได้ทำความรู้จักกับส่วนประกอบทางศิลปะ จุด เส้น ระนาบ และรูปทรงกันไปแล้ว คราวนี้เราจะมาดูวิธีที่จะจับส่วนประกอบต่างๆ ให้อยู่ด้วยกันอย่างสวยงามกันต่อ

          การนำสิ่งต่างๆ มาจัดประสานสัมพันธ์กันให้เกิดคุณค่าทางความงาม เราเรียกว่า การจัดองค์ประกอบศิลป์ (Composition) ซึ่งเป็นความรู้พื้นฐานในการสร้างสรรค์ความงามทุกๆ แขนง แต่ละผลงานนั้นอาจจะต้องตอบโจทย์ และตอบสนองต่อความต้องการของผู้รับสาร ไปจนคำนึงถึงการนำเสนอภาพรวมและวัตถุประสงค์ในการออกแบบด้วย แบ่งออกเป็นปัจจัยสำคัญดังนี้

• สัดส่วน (Proportion)
• ความสมดุล (Balance)
• จังหวะ (Rhythm)
• การเน้นหรือจุดเด่น (Emphasis)
• เอกภาพ (Unity)
• ความขัดแย้ง (Contrast)
• ความกลมกลืน (Harmony)

สัดส่วน (Proportion)

          คือความสัมพันธ์กันระหว่างขนาดขององค์ประกอบ ทั้งขนาดที่อยู่ในรูปทรงเดียวกัน หรือระหว่างรูปทรง และความสัมพันธ์นี้ควรกลมกลืนระหว่างองค์ประกอบทั้งหลายด้วย เป็นความพอเหมาะพอดี ความเหมาะสมของ สัดส่วนแบ่งคุณลักษณะเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ

          สัดส่วนที่เป็นมาตรฐานจากรูปลักษณะตามธรรมชาติ และมีนักคณิตศาสตร์ชาวกรีก ได้ค้นพบสัดส่วนธรรมชาติที่เชื่อมโยงกัน ทั้งสัดส่วนมนุษย์ สัตว์ และพืชหลายชนิด ที่เรารู้จักกันคือ Golden section หรือ Golden ratio เป็นกฎในการสร้างสรรค์รูปทรงของกรีก ซึ่งถือว่า “ส่วนเล็กสัมพันธ์กับส่วนที่ใหญ่กว่า  ส่วนที่ใหญ่กว่าสัมพันธ์กับส่วนรวม” ทำให้สิ่งต่างๆ ที่สร้างขึ้นมีสัดส่วนที่สัมพันธ์กับทุกสิ่งอย่างลงตัว

          ตัวอย่างงานที่ใช้หลักการ Golden section มาออกแบบคือ วิหารพาร์เธนอน (Parthenon) ชาวกรีกได้ให้หลักการนี้เป็นสัดส่วนที่สมบูรณ์ เพราะเชื่อว่ามันเป็นสัดส่วนพื้นฐานของความงามของสรรพสิ่งในจักรวาล และกฎแห่งธรรมชาติ และยังเชื่อกันว่าพีรามิดอียิปต์ก็สร้างด้วยสัดส่วนนี้อีกด้วย          

          เรื่องสัดส่วนนี้เหมาะมากสำหรับการนำมาปรับใช้ในการจัดตกแต่งชั้นโชว์ของ ชั้นหนังสือ ตู้คอนโซลที่เป็นการจัดองค์ประกอบ แล้วสามารถเห็นองค์ประกอบได้ชัดเจนในระนาบแนวตั้ง

          สัดส่วนจากความรู้สึก ที่มาจากเนื้อหา เรื่องราว อ่านถึงตรงนี้ ผู้อ่านอาจจะสงสัยว่าความรู้สึกมีสัดส่วนด้วยหรอ ความรู้สึกในที่นี้หมายถึงปริมาณเรื่องราวแต่ละเรื่องที่ใส่ไปในผลงาน สิ่งนี้จะช่วยเน้นอารมณ์ ความรู้สึก ให้เป็นไปตามเจตนาของศิลปิน เช่น งานศิลปะของชนชาติต่างๆ มีลักษณะแตกต่างกัน เนื่องจากมีเรื่องราว อารมณ์ และ ความรู้สึกที่ต้องการแสดงออกต่างๆ กันไป  กรีกนิยมในความงามตามธรรมชาติเป็น อุดมคติ และเน้นความงามที่เกิดจากการประสานกลมกลืนของรูปทรง จึงแสดงถึงความเหมือนจริงตามธรรมชาติ ถ้าเทียบกับงานตกแต่งภายในหากเราอยากจะเน้นอารมณ์ของห้องให้ดูสบายตา อบอุ่นกึ่งรีสอร์ท เราจะต้องให้สัดส่วนอารมณ์ที่สื่อถึงธรรมชาติมากกว่าอารมณ์ด้านอื่นๆ

ความสมดุล (Balance)

          สมดุล หมายถึง น้ำหนักที่เท่ากันขององค์ประกอบไม่เอนเอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง การจัดวางองค์ประกอบต่างๆ นั้นจะต้องคำนึงถึงจุดศูนย์ถ่วง ในธรรมชาตินั้นทุกสิ่งทรงตัวอยู่ได้ เพราะมีน้ำหนักเฉลี่ยเท่ากันทุกด้าน ดังนั้นในงาน ศิลปะถ้ามองดูแล้วรู้สึกว่าบางส่วนหนักไป แน่นไป หรือ เบาบางไป ก็จะทำให้สิ่งนั้นดูเอนเอียง และเกิดความรู้สึกไม่สมดุล เป็นการบกพร่องทางความงาม ดุลยภาพในงานศิลปะแบ่งเป็น  2 ลักษณะ คือ

          ดุลยภาพแบบสมมาตร (Symmetry Balance) เรียกได้ว่าเป็นความสมดุลแบบซ้ายขวาเหมือนกัน  คือ การวางทั้งสองข้างของแกนสมดุล ส่วนมากพบในงานที่ต้องการดูมั่นคง โอ่อ่า สง่า เป็นทางการ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ทัชมาฮาล จะเห็นได้ว่าซ้ายขวาเหมือนกัน แถมยังมีแกนกลางเป็นสระน้ำนำสายตาไปให้ดูเด่นสง่า มั่นคง

          ดุลยภาพแบบอสมมาตร (Asymmetry Balance) คือความสมดุล แบบซ้ายขวาไม่เหมือนกัน ใช้องค์ประกอบที่ไม่เหมือนกัน แต่มีความสมดุลกัน อาจเป็นความสมดุลด้วยน้ำหนักขององค์ประกอบ หรือสมดุลด้วยความรู้สึกก็ได้ การจัดองค์ประกอบให้เกิดความสมดุลแบบอสมมาตร อาจจะต้องใช้ประสบการณ์ การลองผิดลองถูกมากกว่าแบบสมมาตร เทคนิคคือให้วิเคราะห์ภาพถ่าย ภาพห้องที่องค์ประกอบสวยๆ ว่าทำไมเราถึงรู้สึกสมดุล อีกเทคนิคคือเลื่อนสิ่งที่ดูมีน้ำหนัก มีมวลมากกว่าเข้าหาแกนกลาง จะทำให้ภาพรวมมีความสมดุลขึ้น หรืออีกกรณีหนึ่งคือใช้สิ่งที่มีขนาดเล็กแต่มีลักษณะที่น่าสนใจกว่า ถ่วงดุลกับสิ่งที่มีขนาดใหญ่แต่มีรูปแบบธรรมดา

          การจัดตกแต่งภายในจะต้องคำนึกถึงน้ำหนักในภาพรวมเช่นเดียวกัน อันดับแรกจัดวางเฟอร์นิเจอร์หลักตามตำแหน่งที่ใช้งานได้สะดวกก่อน แล้วจึงเดินถอยออกมามองภาพรวม ลำดับถัดไปดูว่าควรเติมองค์ประกอบใดเพื่อให้ ภาพรวมดูสมดุล เช่น พรม ภาพวาด โคมไฟ ขณะที่ทำให้ดูสมดุลแล้ว ยังช่วยเสริมบรรยากาศอีกด้วย

จังหวะ (Rhythm)

          จังหวะ คือลักษณะการจัดวางขององค์ประกอบต่างๆ โดยมี ระยะ จังหวะ การซ้ำ

ระยะ     คือ  ช่องไฟ ช่องว่างระหว่าง
จังหวะ  คือ  ความสม่ำเสมอของรูปแบบแพทเทิร์น
การซ้ำ  คือ  การใช้รูปทรงเดิมซ้ำๆ กัน แต่ต่างขนาดออกไป

          การที่ผลงานมีจังหวะลีลา จะทำให้งานไม่น่าเบื่อ เพราะสายตาได้จับกับส่วนประกอบต่างๆ แบบเป็นจังหวะ เหมือนมีการเคลื่อนไหว ทั้งนี้ทั้งนั้นจะต้องคำนึงถึงจุดประสงค์การออกแบบด้วย เช่น ห้องสมุดที่ต้องการสมาธิ ความเงียบ อาจจะไม่เหมาะที่จะใส่จังหวะที่ซับซ้อนขององค์ประกอบเข้าไปกวนสายตา 

          ตัวอย่างเรื่องจังหวะในการออกแบบ ที่เห็นได้ชัดงานหนึ่งคือผลงานของ พีท มอนเดรียน (Piet Mondrian)  ศิลปินชาวเนเธอแลนด์ที่สร้างผลงาน อยู่ในช่วงค.ศ.1900 หรือช่วงที่โมเดิร์นอาร์ตกำลังเริ่มผุดขึ้นมาหลายลัทธิ มอนเดรียนมีสไตล์เป็นของตัวเอง ด้วยการสร้างงานศิลปะโดยใช้ เส้น รูปทรงเรขาคณิต ที่ว่าง สีขาว ดำ และแม่สี งานของพีท แสดงให้เห็นการใช้จังหวะของรูปร่างและสีได้ชัดเจน ในขณะเดียวกันก็เกิดความสมดุลในภาพรวมอีกด้วย ก่อนที่มอนเดรียนจะเลือกทำงานแบบเดอสไตล์ (De Stijl) เขาเคยทำงานแบบลัทธิคิวบิสม์มาก่อน ส่งผลให้การตัดทอน จนเหลือแค่สีขาว ดำ แม่สี และเส้นรูปทรงเรขาคณิตของเขาเป็นไปได้อย่างพอดี แม้เวลาจะผ่านล่วงเลยมาเป็น 100 ปี ศิลปะแบบเดอสไตล์ของมอนเดรียนก็ยังคงโลดแล่นอยู่ในวงการศิลปะ และลามไปถึงวงการอื่นๆ อีกด้วย

          เราสามารถนำแนวความคิดของพีท มาปรับใช้กับการตกแต่งภายในได้ เช่น การใช้สีเน้นจังหวะ (Accent) นำไปจัดวางตำแหน่งต่างๆ ในสเปซ ให้เกิดจังหวะ เช่น เสริมหมอนอิงสีแดง และอีกมุมหนึ่งมีดอกไม้สีแดง หรือภาพวาดที่มีสีแดงผสมอยู่ เพียงแค่นี้ภาพรวมจะมีความน่าสนใจมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันต้องอย่าลืมคำนึงถึงความสมดุลโดยรวมด้วย

การเน้นหรือจุดเด่น (Emphasis)

          การทำให้เด่นเป็นพิเศษ จะต้องมีส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือจุดใดจุดหนึ่ง เป็นจุดศูนย์กลางความสนใจ หรือประธาน ในงานที่ไม่มีจุดสนใจจะทำให้งานนั้นดูน่าเบื่อได้ เหมือนกับลวดลายที่ถูกจัดวางซ้ำกันโดยไม่มีความหมายและเรื่องราว การเน้นจุดสนใจสามารถทำได้ 3 วิธี คือ

          การเน้นด้วยการใช้องค์ประกอบที่ตัดกัน  (Emphasis by Contrast) เน้นด้วยสิ่งที่แปลกแตกต่างไปจากส่วนอื่นๆ ของงาน ให้เกิดเป็นจุดสนใจ แต่ควรระวังว่าจะทำให้เนื้อหาของงานเปลี่ยนไปหรือไม่ เช่น การเพิ่มเฟอร์นิเจอร์ที่มีสี หรือวัสดุต่างจากวัสดุโดยรวมในห้อง จะเป็นการเพิ่มความน่าสนใจให้กับห้องเรียบๆ                    

          การเน้นด้วยการด้วยการอยู่โดดเดี่ยว (Emphasis by Isolation) เมื่อสิ่งหนึ่งถูกแยกออกไปจากส่วนอื่นๆ ตำแหน่งของมันได้ดึงสายตาออกไป มีพื้นที่ว่างโดยรอบมากขึ้น จึงทำให้กลายเป็นจุดสนใจขึ้นมา เหมือนกับการที่โถงโรงแรมมีโต๊ะตรงขนาดใหญ่แล้วจัดดิสเพลย์ หรือใช้ของตกแต่งตามแนวความคิดการออกแบบจัดวางอยู่ตรงกลาง          

          การเน้นด้วยการจัดวางตำแหน่ง (Emphasis by Placement) เมื่อองค์ประกอบอื่นๆ ชี้นำมายังจุดใดจุดหนึ่ง จุดนั้นก็จะเป็นจุดสนใจที่ถูกเน้นขึ้นมา และการจัดวางตำแหน่งที่เหมาะสม ก็สามารถทำให้จุดนั้นเป็นจุดสำคัญขึ้นมาได้ เช่น ภาพ The Scream ของ เอ็ดเวิร์ด มุน (Edvard Munch) เป็นตัวอย่างของการใช้ส่วนกระกอบดึงสายตามายังจุดสนใจของภาพ ด้วยการที่ใช้เส้นนำสายตาชัดๆ ดึงลึกเข้าไป ส่งต่อให้กับเส้นโค้งแนวนอน และสุดท้ายเป็นทีแปรงเส้นๆส่งมายังจุดไฮไลท์ของภาพที่อยู่ด้านหน้าสุด เป็นการใช้เทคนิคได้น่าสนใจ และชาญฉลาดมาก

          สำหรับการจัดตกแต่งห้อง สามารถใช้รูปทรงของเฟอร์นิเจอร์ ลวดลายของวัสดุ จัดวางให้ชี้นำไปยังตำแหน่งที่อยากให้เด่นได้ ตัวอย่างง่ายๆ คือการปูลายพื้นไม้ชี้ไปยังจุดเด่น เช่น เคาน์เตอร์ชำระเงิน หรือเคาน์เตอร์บาร์ เป็นต้น

          เพียงแค่สี่ปัจจัยแรก ก็ทำให้เห็นได้ชัดว่าแม้ผลงานศิลปะ Abstract ก็ยังใช้หลักการในการจัดองค์ประกอบในผลงาน เพื่อให้ได้มาถึงความงาม และความหมายที่ศิลปินอยากสื่อสาร

          พักเบรกกันสักหน่อยก่อนจะมาต่อใน EP.03 กับปัจจัยการจัดองค์ประกอบศิลป์ที่เหลือ ระหว่างนี้เราอยากให้ผู้อ่านลองนำหลักการจัดองค์ประกอบศิลป์สักหนึ่งข้อ ไปจัดของในบ้านกันดูเล่นๆ จะเป็นของบนชั้นหนังสือ หรือขยับของบนโต๊ะทำงานกันดูก่อน เพื่อพิสูจน์ว่าถ้าทำตามหลักการที่ว่ามาแล้ว สเปซจะสวยขึ้นจริงมั้ย

Resources:
https://www.wynnsoftstudio.com/Composition
http://www.geom.uiuc.edu/~demo5337/s97b/art.htm  
https://tonkit360.com/23139
https://www.sylentstudios.com/blog/2014/7/14/eight-types-of-artistic-composition

เรื่อง: นุชนาถ กลิ่นจันทร์ (Farmhouse Styling)
เรียบเรียง: ภัทราวรรณ สุขมงคล (Dyeast Studio)