ถอดรหัสการแต่งบ้านด้วยตัวเอง EP.03 – องค์ประกอบศิลป์ พื้นฐานของความงามทุกแขนง Part.2/2

          กลับมาอีกครั้งกับการแต่งบ้านให้สนุกแบบมีที่มาที่ไป คราวที่แล้วเราพูดถึงสำหรับปัจจัยในการจัดองค์ประกอบไปสี่ปัจจัย ผู้อ่านได้ลองนำไปใช้ในการจัดห้องดูหรือไม่คะ ได้ผลลัพธ์อย่างไร หากยังรู้สึกไม่ลงตัว ลองมาดูปัจจัยที่เหลือในวันนี้เพิ่มเติมกัน ซึ่งเป็นอีกสามส่วนสำคัญ ที่ทำให้ความงามสมบูรณ์

• เอกภาพ (Unity)
• ความขัดแย้ง (Contrast)
• ความกลมกลืน (Harmony)

ความเป็นเอกภาพ (Unity)

          หรือความเป็นหนึ่งเดียวแม้ลักษณะ และเนื้อหาเรื่องราว อาจจะเหมือนหรือแตกต่างกันบ้าง แต่การจัดระเบียบของส่วนต่างๆ ก่อให้เกิดความสัมพันธ์เป็นหนึ่งเดียวกัน ความสัมพันธ์แบบนี้สร้างให้ผู้พบเห็นรู้สึกถึงความสมบูรณ์ เอกภาพจึงมีความสำคัญมากในการจัดองค์ประกอบ

          ตัวอย่างที่ดีเรื่อง Unity ก็คงหนีไปไม่พ้น School of Athens ผลงานของ Raphael ภาพที่เต็มไปด้วยความหลากหลาย ของอารมณ์ องค์ประกอบ ผู้คนภายในภาพ แต่ถูกจัดวางอยู่ในระบบที่ทำให้เกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน การที่มีกรอบ เป็นฉากหน้าพาให้กลุ่มความหลากหลายเป็นกลุ่มก้อนเดียวกันตรงกลาง รายละเอียดของสถาปัตยกรรมภายในที่ ซ้ายและขวาต่างกัน แต่ดูเท่ากัน ใช้องค์ความรู้เรื่องสมดุลที่เท่ากัน อีกั้งโทนสีที่เลือกใช้มีเพียงสามสีหลัก น้ำตาลส้ม ครีม ฟ้า ซึ่ง Raphael ได้หยอดสามสีนี้ไว้ทั่วทุกมุมของภาพ ทำให้ความแตกต่างของส่วนประกอบ สมบูรณ์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

ปัจจัยถัดมา ขอกระโดดข้ามมาที่เรื่องความกลมกลืนกันก่อน เพราะว่ามีความหมายค่อนข้างคล้ายกันกับปัจจัยเรื่องเอกภาพจนแทบจะเป็นหัวข้อเดียวกันได้

ความกลมกลืน (Harmony)

          
บ้างกล่าวว่าเอกภาพและความกลมกลืนเป็นสิ่งเดียวกัน บ้างก็แยกสองสิ่งนี้เป็นสองหัวข้อ ซึ่งจริงๆ แล้วผู้เขียนเองก็พยายามหาความแตกต่างของสองคำนี้เหมือนกัน สรุปได้ว่าเอกภาพ และความกลมกลืน เป็นคำพ้องความหมายซึ่งกันและกัน มีความหมายร่วมเหมือนกัน ถ้ามีความเอกภาพจะมีความกลมกลืน และถ้ามีความกลมกลืนจะเกิดเอกภาพ เหมือนเพลงที่นุ่น มากับเจน และต้องมากับโบว์ ดังนั้นเราอยากให้ผู้อ่านโฟกัสกับจุดประสงค์ของปัจจัย ในการจัดองค์ประกอบมากกว่าคำที่นำมานิยายแต่ละหัวข้อ

          ความกลมกลืนนี้เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดของการจัดองค์ประกอบทางศิลปะ เพราะความกลมกลืนจะทำให้เกิด ความลงตัว งดงาม ความกลมกลืนนี้แบ่งออกเป็น 2 แบบคือ

1. ความกลมกลืนแบบคล้อยตามกัน หมายถึง การนำรูปร่าง รูปทรง เส้น หรือสี ที่มีลักษณะเดียวกันมาจัด เช่น วงกลมทั้งหมด สี่เหลี่ยมทั้งหมด ซึ่งแม้ว่าอาจจะมีขนาดที่แตกต่างกัน

2. ความกลมกลืนแบบขัดแย้ง หมายถึง การนำเอาองค์ประกอบต่างชนิด ต่างรูปร่าง รูปทรง ต่างสี มาจัดวางในภาพเดียวกัน เช่น รูปวงกลมกับรูปสามเหลี่ยม เส้นตรงกับเส้นโค้ง ซึ่งจะทำให้เกิดความขัดแย้งกันขึ้นแต่ก็ยังให้ความรู้สึกกลมกลืนกัน

          ตัวอย่างงานที่เห็นความกลมกลืนได้ชัดเจนคืองานของ Claude Monet ที่โดยส่วนใหญ่ใช้สี และความเข้มอ่อนของแสงได้กลมกลืนกัน แม้จะใช้สีตรงข้ามกับแต่ยังอยู่ในช่วงค่าแสงเดียวกัน จึงทำให้เกิดความกลมกลืน กลมกล่อม สีในช่วงค่าแสงเดียวกันคืออะไร แต่ละสีที่ Monet นำมาใช้ จะถูกหยอดสีขาวไปผสมในทุกๆ สีที่เลือกใช้ เเละค่อยๆ เพิ่มให้มากขึ้น ยิ่งมากขึ้นเท่าไหร่สีก็ยิ่งกลมกลืนกันมากขึ้นเท่านั้น  

          นอกจากนี้ความกลมกลืนกันยังสามารถสร้างขึ้นได้จากการเลือกใช้สีโทนเดียวกัน หรือโมโนโทน อย่าง ผลงาน The Old Guitarist ของ Pablo Picasso ที่เป็นผลงานที่ใช้โทนสีน้ำเงินเป็นหลัก แม้กีต้าร์ที่ควรเป็นสีน้ำตาลก็ยังอยู่ในเฉดอมสีน้ำเงิน เพื่อแสดงถึงความเศร้า หม่นหมอง วิธีการใช้โทนสีเดียวนี้ เมื่อนำมาใช้งานการตกแต่งห้อง ยิ่งเป็นวิธีที่ทำให้ทุกอย่างดูกลมกลืนกันได้อย่างง่ายดาย แต่ขณะเดียวกันโทนสีเดียวที่เลือกมานั้นก็จะสื่อถึงอารมณ์ตามสีนั้นๆ ได้อย่างชัดเจนเช่นเดียวกัน    


Pablo Picasso, The Old Guitarist, 1904

          การนำเพียงเฉดสีเดียวมาตกแต่งภายใน เป็นวิธีง่ายที่สุดที่จะทำให้ทุกอย่างกลมกลืนกัน แต่ในขณะเดียวกัน ก็ทำให้เกิดความรู้สึกนิ่ง ไม่น่าตื่นเต้น น่าเบื่อ อาจจะเหมาะกับห้องที่ต้องการสมาธิ ต้องการการพักผ่อน ถ้าเทียบกับนักกีฬายิมนาสติก ก็เหมือนกับเล่นท่าง่าย ได้คะแนนความสมบูรณ์ง่าย แต่ไม่ค่อยน่าตื่นเต้น

          หรืออีกวิธีการหนึ่งที่สามารถเพิ่มความน่าสนใจขึ้นมา คือการเลือกวัสดุที่กลมกลืนกันดังในตัวอย่างด้านล่าง ที่มีการใช้วัสดุต่างกันบ้าง แต่โชว์ผิวสัมผัสธรรมชาติ พรมเส้นใยธรรมชาติ หมอนอิง ผ้าคลุมโซฟาเป็นผ้าที่โชว์ผิวสัมผัสแบบธรรมชาติ รวมถึงพื้นไม้ เฟอร์นิเจอร์หวาย ของประดับตกแต่ง โดยทั้งหมดนี้ถูกคุมด้วยสีโทนเดียวกัน

          เมื่อพูดถึงความกลมกลืนกันด้วยแสงและสีแล้ว อีกอย่างที่ขาดไปไม่ได้เลยคือ สไตล์การตกแต่งภายใน แต่ละสไตล์จะมีรายละเอียด และวัสดุ ที่ให้ความเป็นเอกลักษณ์ ตัวอย่างเช่น การตกแต่งห้องนั่งเล่นให้เป็น สไตล์อินดัสเทรียลลอฟท์ วัสดุพื้น ผนังฝ้า เฟอร์นิเจอร์ควรเป็นปูนเปลือย ไม้ หรือเหล็ก ของตกแต่งต่างๆ ก็ควรมีสไตล์เดียวกัน โชว์รายละเอียดของวัสดุ มีความดิบ ไม่เรียบร้อย เพื่อให้เกิดความกลมกลืน เป็นต้น หลายคนอาจสงสัยว่า เราสามารถผสมสไตล์อื่น หรือความแตกแต่งไปได้หรือไม่ เพื่อความน่าสนใจ คำตอบคือได้ และนั่นก็เป็นปัจจัยข้อสุดท้ายที่ควรคำนึงถึง

ความขัดแย้ง (Contrast)

          ในทางศิลปะจะหมายถึงความไม่ประสานสัมพันธ์กัน หรือสิ่งที่ตรงข้ามกัน แตกต่างกัน การนำความขัดแย้งมาใช้ในงานศิลปะจะช่วยทำให้ผลงานไม่เกิดความน่าเบื่อ และยังช่วยให้เกิดความตื่นเต้น ความน่าสนใจขึ้นอีกด้วย เราสามารถทำให้เกิดความขัดแย้งในองค์ประกอบได้หลายลักษณะ ขัดแย้งกันในขนาดขัดแย้งกันในรูปร่าง รูปทรง ขัดแย้งกันในทิศทาง ขัดแย้งกันในแสง และขัดแย้งกันในเรื่องของสี

          สีที่ตัดกันจะส่งผลต่อความรู้สึกที่ขัดแย้ง และช่วยสร้างความเด่นให้กับสิ่งที่เราให้ความสนใจ โดยสีที่ตัดกันนั้นถ้าเป็นสีตรงข้ามวรรณะกัน หรือคู่สีที่ตรงข้ามกันในวงจรสี จะมีผลของความตัดกันมากที่สุด Vincent van Gogh เป็นอีกคนหนึ่งที่มักใช้สีตรงกันข้ามอยู่บ่อยครั้ง ถึงขั้นกล่าวไว้ว่า “ไม่สามารถมีสีน้ำเงินได้ หากไม่มีสีเหลือง หรือสีส้ม” จะเห็นได้ชัดในผลงาน Starry Night ของเขา ที่เกือบ 80% เป็นสีน้ำเงินของท้องฟ้า และทิวเขา โดยมีแสงสีเหลืองสว่างเรืองรองจากดาวต่างๆ และพระจันทร์ ที่ทำให้ภาพนี้มีความน่าสนใจ

          ไม่ต่างกันกับการตกแต่งภายใน หากได้หยอดสีที่ขัดแย้งลงไปในภาพรวม สีนั้นจะสะดุดสายตาทันที ช่วยเพิ่มความตื่นเต้น เมื่อเป็นสิ่งที่มากวนสายตา จึงไม่ควรเป็นเปอร์เซ็นต์หลักในภาพรวม และมีเคล็ดลับในการทำให้สิ่งที่ขัดแย้งนี้กลมกลืน ไหลลื่นไปด้วยกันได้ในภาพรวม คือ ให้มีสิ่งที่ขัดแย้งนี้มากกว่าหนึ่งชิ้น กระจายไปอยู่มุมอื่นในงาน เพื่อสร้างความกลมกลืน เช่นภาพตัวอย่างที่มีหมอนอิงสีเหลืองเป็นจุดขัดแย้ง สร้างจุดเด่นให้งาน และมีเก้าอี้สีเหลือง ซึ่งเป็นการหยอดสีเหลืองในพื้นหลัง เพื่อให้ภาพรวมดูกลมกลืน น่าสนใจ

          ในสีคู่ตรงข้ามนี้ควรคำนึงถึงเปอร์เซ็นต์ของสีที่เหมาะสมในการใช้งาน หากใช้สีตรงข้ามกันเป็นสัดส่วน 50/50 ความน่าสนใจจะน้อยลง ดูไม่ออกว่าสิ่งไหนควรเด่น ไม่ใช่แค่กับเรื่องสี แต่ต้องไปปรับใช้กับวัสดุที่สร้างความขัดแย้ง สไตล์ รายละเอียดที่สร้างความขัดแย้ง ก็ควรคำนึงถึงสัดส่วนในภาพรวม ทั้งนี้ต้องพิจารณาลักษณะความขัดแย้งที่นำมาใช้ด้วยว่า ก่อให้เกิดความขัดแย้งกัน แล้วทำให้เนื้อหาของงานเปลี่ยนไปหรือไม่ ภาพรวมแล้วยังคงต้องมีความเป็นเอกภาพและเรื่องราวเดียวกัน

          หัวใจสำคัญของความสวย สามารถถอดใจความมาอธิบายได้ตามปัจจัยที่กล่าวไปทั้งหมด ทุกความงามมีที่มาที่ไป ดังนั้นทุกการเลือกใช้สี วัสดุ เฟอร์นิเจอร์ ก็ควรมีที่มาที่ไปเช่นเดียวกัน การจัดบ้านที่ไม่รู้ว่าจะเริ่มที่จุดไหนจะไม่ยากอีกต่อไปถ้าเราใช้พื้นฐานที่ว่ามา

            ขอให้ทุกคนสนุกกับการแต่งบ้านนะคะ

Sources:
https://www.sylentstudios.com/blog/2014/7/14/eight-types-of-artistic-composition  
https://patsudabbcit58.wordpress.com/ความกลมกลืน-harmony/ 
https://drawpaintacademy.com/harmony/ https://www.naturalwatercolor.com/en_GB/a-57645759/blog/4-ways-to-use-color-contrast-in-your-art/#description https://www.camerartmagazine.com/techniques/com-po-si-tion/composition-ep-2-principles-of-composition-ความขัดแย้ง-contrast.html

เรื่อง: นุชนาถ กลิ่นจันทร์ (Farmhouse Styling)
เรียบเรียง: ภัทราวรรณ สุขมงคล (Dyeast Studio)